f
title
สำนักงานทางหลวงที่ 1
Office of Highways 1 (Chiangmai)
วิสัยทัศน์ : " ทางหลวง สะดวก ปลอดภัย และสวยงามทั่วล้านนา "
“คมนาคม” เปิดนโยบายปี 64 ลุยเพิ่มอีก 11 โปรเจกท์ประเดิมมอเตอร์เวย์พร้อมรถไฟทางคู่ 3 เส้น รื้อแน่ ๆ เปลี่ยนแทรมเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง สั่งทุกหน่วยเตรียมหั่นงบ-ปรับเนื้องาน!! เผื่อไว้ก่อนหากรัฐขอให้ช่วยแก้โควิด-19
ลงวันที่ 04/01/2564
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แถลงนโยบายปี 64 โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลงว่า ในปี 64 กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าสานต่อนโยบายเดิมจากปี 63 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 7 เรื่อง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป, พัฒนาตั๋วร่วมให้สามารถใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ, การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ และขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
 
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 64 อีก 11 เรื่อง เพื่อเดินหน้าการพัฒนาระบบคมนาคมเชิงรุก วางรากฐานการพัฒนาสู่อนาคต ได้แก่
1.ศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เพื่อวางแผนพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องกับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ จำนวน 9 เส้นทาง 5,000 กิโลเมตร(กม.) โดยเบื้องต้นปี 64 จะใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ดำเนินการศึกษานำร่อง 3 เส้นทางคือ ชุมพร-ระนอง 120 กม., กาญจนบุรี-ตราด 220 กม. และหนองคาย-แหลมฉบัง 490 กม., 2.ศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge โดยพัฒนามอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ และเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกชุมพร-ระนอง ทั้งนี้คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาได้ในไตรมาสที่ 2 ปี 64 และจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 64
3.ตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าโอท็อป
4.สร้างพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ว่างของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้สวยงามร่มรื่น และจัดพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์
5.ผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในระบบขนส่งสาธารณะ
6.ศึกษาและกำหนดแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค
7.พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง(Feeder) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากชุมชนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า
8.เร่งรัดเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ โดยจะให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.64 
9.แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน ทั้งการผลักดันใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) และปรับปรุงโครงข่ายทางพิเศษและมอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ, ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน, ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9-พระราม 2
10.แก้ปัญหาการจราจรใน จ.ภูเก็ต โดยบูรณาการโครงข่ายทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ของ กทพ. วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท กับโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และ
11.วางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 64 กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 2.7 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมปรับงบประมาณ และเนื้องานแต่ละโครงการไว้ด้วย แต่ยังให้คงตัวโครงการเอาไว้เหมือนเดิม ซึ่งกรณีนี้เป็นการเผื่อไว้หากวงเงินกู้ในรอบแรกของรัฐบาลไม่เพียงพอ รัฐบาลก็อาจจำเป็นต้องให้แต่ละหน่วยงานกันงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้เป็นงบกลางในการแก้ปัญหาโควิด-19 เหมือนปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในปี 64 กระทรวงคมนาคมยังยืนยันเดินหน้าทำงานใส่เกียร์ 5 เต็มที่
 
 
ขอขอบคุณที่มาข่าวและภาพข่าว : FAECBOOK  ข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์

'