f
title
สำนักงานทางหลวงที่ 1
Office of Highways 1 (Chiangmai)
วิสัยทัศน์ : " ทางหลวง สะดวก ปลอดภัย และสวยงามทั่วล้านนา "
ขอแสดงความยินดีกับสิทธิบัตรแรกของกรมทางหลวง และนวัตกรรมแรกของประเทศไทย ในกลุ่ม iBridge
ลงวันที่ 31/05/2565
วันนี้ (31 พ.ค. 65) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง แสดงความยินดีกับสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง ที่ได้จดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสะพาน ซึ่งเป็นสิทธิบัตรแรกของกรมทางหลวงและนวัตกรรมแรกของประเทศไทย ในกลุ่ม iBridge โดยมีนายพลเทพ เลิศวรวนิช ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง พร้อมด้วยนายราชวัลลภ กัมพูพงศ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ (ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์) และคณะทำงาน เข้ารายงานความเป็นมาและอธิบายลักษณะการทำงานของผลิตภัณฑ์  การนี้ นายมนตรี เดชาสกุลสม รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความยินดีด้วย
"อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา" พัฒนาขึ้นเพื่อการซ่อมรอยต่อรับแรงเฉือน (Shear Key) ของสะพานประเภท PC Plank Girder เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการซ่อมใหญ่ หรือ เป็นการเสริมกำลังในกรณีพิเศษเพื่อความสะดวกในการติดตั้ง จึงได้ทำการออกแบบและผลิตระบบเสริมแรงดึงในแผ่นยางให้สามารถดึงแผ่นยางและรั้งแรงดึงไว้ก่อน ซึ่งปลดอุปกรณ์รั้งแรงดึงภายหลังเพื่อถ่ายแรงเข้าไปเสริมกำลังคานสะพานโดยที่ไม่ต้องดึงแผ่นยางหน้า สามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องปิดการจราจรบนสะพาน แถบยางพาราอัดแรงได้รับการทดสอบประเมินความสามารถในการเสริมกำลังขนาดเท่าจริงในห้องปฏิบัติการ ผลการทดสอบและการวิเคราะห์แบบจำลองไฟไนต์อิลิเมนต์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคานสะพานหลังเสริมกำลังด้วยแถบยางพาราอัดแรงมีความแข็งแรงขึ้นและสามารถช่วยถ่ายเทแรงเฉือนได้ตามที่ออกแบบ "อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา" ถือเป็นนวัตกรรมเพื่อการบำรุงรักษาสะพานนวัตกรรมแรกของประเทศไทย ในกลุ่ม iBridge และถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมงานทาง ภายใต้ยุทธศาสตร์งานวิจัย 5 ปี สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย   ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มอบสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522) แก่ กรมทางหลวง (สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง) สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามข้อถือสิทธิ และภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ “อุปกรณ์หัวจับยึดสำหรับอัดแรงยางพารา” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565

'